แก้ว

แก้ว

ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) :  แก้ว, แก้วขาว (ภาคกลาง), กะมูนิง (มาเลย์-ปัตตานี),  แก้วขี้ไก่ (ยะลา), แก้วพริก, ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ), แก้วลาย (สระบุรี), จ๊าพริก (ลำปาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Murraya paniculata (L.) Jack

ชื่อพ้อง : Camunium exoticum (L.) Kuntze, Chalcas cammuneng Burm.f., Chalcas paniculata L., Connarus foetens Blanco, Murraya exotica L.

วงศ์ : Rutaceae

ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) :  ละติจูด  13.819975 °N , ลองจิจูด  100.04174722222 °E

ลักษณะวิสัย (habit): แก้วเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กและเป็นไม้ไม่ผลัดใบ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ลำต้น  แก้วมีลำต้นสูง 5 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาปนขาว ลำต้นแตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องตามยาว

ใบ  ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายใบคี่ การเรียงตัวของใบแบบเรียงเวียน ใบย่อยมีจำนวน 5-7 ใบ เรียงตัวแบบสลับ ใบมีลักษณะรูปไข่กลับ ยาว 1.5-5.6 ซม. กว้าง 0.9-2 ซม.   โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลมตรงกลางเว้าบุ๋มเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ใบมีต่อมน้ำมัน หลังใบมีสีเขียว-เข้มเป็นมัน ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ

ดอก แก้วมีดอกสีขาวกลิ่นหอมดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ กลีบเลี้ยงมีสีเขียวขนาดเล็ก 7 กลีบ ยาว 0.2 ซม. โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน  กลีบดอกมีสีขาวรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ จำนวน     6 กลีบ ยาว 2 ซม.  กว้าง 0.7 ซม. กลีบดอกไม่เชื่อมติดกัน เกสรตัวผู้ 11-15 อัน ก้านชูอับเรณูสีขาวยาวไม่เท่ากัน ยาว 0.7-1.1 ซม. อับเรณูสีเหลืองอ่อนอมเขียวขนาด 1 มม. เกสรตัวเมียยาว    1 ซม. ยอดเกสรตัวเมียรูปโล่สีเหลืองเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 มม.

ผล  ผลรูปไข่หรือรีปลายทู่ ผลอ่อนมีสีเขียวผลสุกจะมีสีแดงหรือสีแสด ยาว 1 ซม.  ภายในมีเมล็ดรูปรีหรือรูปไข่ มีขนหนาและเหนียวหุ้ม เมล็ดมีสีขาวขุ่นขนาดกว้าง 4-6 มม. ยาว 6-9 มม.

ฤดูการออกดอกและติดผล

: ออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี

การใช้ประโยชน์จากพืชหรือคุณค่าทางเภสัชพฤกษศาสตร์ 

ใช้ปลูกประดับเป็นไม้ประดับตกแต่ง และเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร

: คุณค่าทางเภสัชพฤกษศาสตร์ 

– ในใบของดอกแก้วมีน้ำมันหอมระเหย โดยประกอบไปด้วยสาร Bisabolene, Carene, Citronellol, Eugenol, Geraniol, I-Candinenem, Paniculatin, Phebalosin, Methyl Anthranilate, Scopoletin, Scopolin

– สารสกัดจาก Petroleum ether ของต้นแก้ว เมื่อนำมาทดลองกับลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กของหนูขาวที่ทำการผ่าออกจากร่างพบว่าสารดังกล่าวมีประสิทธิภาพทำให้การเกร็งตึงที่กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้มีการหย่อนคลาย

– สารจากต้นแก้วที่ทำการสกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อหรือช่วยยับยั้งเชื้อ Bacillus และเชื้อ Staphylococcus ได้

ประโยชน์จากแก้ว

ใบ นำใบดอกแก้วมาต้มสามารถใช้เป็นน้ำยาบ้วนปากได้ นอกจากนั้นใบยังช่วยในการขับลม    แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกายและยังสามารถใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืดได้

ราก รากของต้นแก้วมีสรรพคุณเป็นยาแผนไทยช่วยขับลม ช่วยแก้ฝีในมดลูก รากสดเมื่อนำมาพอกที่แผลช่วยลดอาการอักเสบได้

ก้านและใบสด นำมาบดแช่กับแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง สามารถนำมาใช้ทาหรือฉีดเป็นยาระงับอาการปวดได้

รากและต้นแห้ง นำมาหั่นและต้มเคี่ยวแล้วกรองเอาแต่น้ำมาใช้ช่วยเร่งการคลอดบุตรของสตรี โดยใช้ผ้าพันแผลจุ่มกับน้ำยาสอดเข้าไปที่ปากมดลูก

ดอกและใบ  ใช้เป็นยาแก้ไขข้ออักเสบ แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้อาการไอและช่วยในการย่อยอาหาร