ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) : กระโดน (ทั่วไป), กระโดนโคก กระโดนบก ปุย (ใต้,เหนือ), ปุยกระโดน (ใต้), ปุยขาว ผ้าฮาด (เหนือ), หูกวาง (จันทบุรี), ต้นจิก (ภาคกลาง) พุย (เชียงใหม่), ขุย (กาญจนบุรี), กะนอน (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Careya sphaerica Roxb.
ชื่อพ้อง : –
วงศ์ : Lecythidaceae
ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) : ละติจูด 13.820278 °N
ลองจิจูด 100.040744 °E
ลักษณะวิสัย (habit): เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่และเป็นไม้ผลัดใบ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้น ลำต้นมีความสูงประมาณ 7 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลดำแตกเป็นแผ่น
ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวแบบเวียนสลับ ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ กว้าง 11-15 ซม. ยาว 19.7-21.6 ซม. ปลายใบมนตรงกลางมีติ่งแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบหยักมน ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ใบที่เจริญเต็มที่มีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ
ดอก ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ กลีบเลี้ยงมีสีเขียวอ่อนจำนวน 4 กลีบ กลีบเลี้ยงรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 8-10 มม. กว้าง 5-7 มม. กลีบดอกสีเขียวมีโคนและขอบกลีบมีสีชมพู จำนวน 4 กลีบ กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาว 2.5-4 ซม. กว้าง 2-2.5 ซม. เกสรตัวผู้สีขาวมีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว 4-5 ซม. โคนก้านเกสรตัวผู้เชื่อมติดกันเป็นวงสีแดงอ่อน เกสรตัวเมียสีเขียวเรียวยาวจำนวน 1 อัน ยาว 4-6 ซม.
ผล ผลเป็นผลเดี่ยวรูปไข่หรือรูปกลม กว้าง 5 ซม. ยาว 6.5 ซม. บริเวณปลาบผลจะมีกลีบเลี้ยงและเกสรตัวเมียติดอยู่ ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีน้ำตาล เมล็ดแบนรูปไข่สีน้ำตาลอ่อนกว้าง 1 ซม. ยาว 1.5 ซม.
ฤดูการออกดอกและติดผล
: ออกดอกช่วงเดือนมกราคม – เดือนเมษายน
ติดผลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมิถุนายน
การใช้ประโยชน์จากพืช หรือคุณค่าทางเภสัชพฤกษศาสตร์
: การใช้ประโยชน์จากกระโดน
ยอดอ่อน สามารถใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกได้
เปลือก ใช้ต้มย้อมผ้าได้ซึ่งเปลือกจะให้สีน้ำตาลแดง
เส้นใยที่ได้จากเปลือก ใช้ทำเชือก ทำเบาะรองหลังช้างหรือทำกระดาษสีน้ำตาล
: สรรพคุณทางยา
ยาพื้นบ้านอีสาน ใช้เปลือกต้นแก้น้ำกัดเท้า แก้โรคกระเพาะอาหาร สมานแผลภายใน
ตำรายาไทย เปลือกต้นมีรสฝาดเมาใช้แช่น้ำดื่มแก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้พิษงู แก้อักเสบจากงูกัด ใช้เป็นยาสมานแผล แก้เคล็ดเมื่อย
ใบ มีรสฝาดใช้รักษาแผลสด โดยนึ่งให้สุกใช้ปิดแผลหรือปรุงเป็นน้ำมันสมานแผล
ดอก มีรสสุขุมบำรุงร่างกายหลังคลอดบุตร แก้หวัด แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ
ผล มีรสจืดเย็นช่วยย่อยอาหาร บำรุงหลังคลอด
ดอกและน้ำจากเปลือกสด ใช้ผสมกับน้ำผึ้ง กินเป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอและเป็นยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร
ต้น ผสมกับเถายางน่องและดินประสิว เคี่ยวให้งวด ตากแห้ง ใช้ปิดแผลมีพิษ ปิดหัวฝี
เมล็ด มีรสฝาดเมาเป็นพิษ
ข้อควรระวัง เมล็ดและรากมีพิษ ใช้เบื่อปลา ส่วนใบและยอดอ่อนมีปริมาณกรดออกซาลิค (oxalic acid) ในปริมาณค่อนข้างสูงอาจเป็นสาเหตุเบื้องต้นของการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
เขตการกระจายพันธุ์
มีการกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง