ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) : กระพี้จั่น จั่น พี้จั่น (ทั่วไป) ปี้จั่น (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Millettia brandisiana Kurz.
ชื่อพ้อง : –
วงศ์ : Fabaceae
ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) : ละติจูด 13.819176 ˚N ลองจิจูด 100.041416 ˚E
ละติจูด 13.820153 °N ลองจิจูด 100.040114 °E
ละติจูด 13.820278 °N ลองจิจูด 100.040744 °E
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะวิสัย (habit) : เป็นไม้ต้นผลัดใบ ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เรือนยอดทรงกลม
ลำต้น : สูง 8 – 20 เมตร โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกสีน้ำตาลหรือ น้ำตาลเข้มแกมเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ เปลือกชั้นในสีแดง
ใบ : ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ความยาวใบประกอบ 15-30 เซนติเมตร เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาว 3-6 เซนติเมตร มีใบย่อย 9-21 ใบ แผ่นใบย่อยรูปรีแกมขอบขนานขนาด กว้าง 1-3 x 3–7 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนมนหรือแหลม แผ่นใบบาง ที่ฐานของใบย่อยพบหูใบย่อย ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง
ดอก : ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวปนม่วง ออกเป็นช่อแบบแตกแขนง ตามซอกใบ ช่อยาว 7-22 ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก สีม่วงดำ กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน ดอกบานเต็มที่กว้าง 0.8-1 ซม.
ผล : เป็นแบบฝักถั่ว ฝักแบน โคนแคบกว่าปลาย ขนาด 2–2.5 x 9–12 เซนติเมตร เปลือกเกลี้ยงหนาคล้ายแผ่นหนัง ขอบเป็นสัน เมื่อแห้งจะแตกเป็น 2 ซีกและบิดเป็นเกลียว
เมล็ด : เมล็ดสีน้ำตาลดำ มีจำนวน 1–4 เมล็ดต่อฝัก
ฤดูการออกดอกและติดผล : ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน
เขตการกระจายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน ในประเทศไทยพบตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังทั่วทุกภาค ที่ความสูง 50 – 300 เมตร จากระดับน้ำทะเล
การใช้ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับที่ให้ร่มเงาและมีดอกที่สวยงามในฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝน เนื้อไม้ช่วยบำรุงเลือด เปลือกต้น ต้มน้ำใช้ชำระล้างบาดแผลเรื้อรัง แก่น เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกายบำรุงโลหิต บำรุงธาตุและช่วยเจริญอาหาร