ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) : ทรงบาดาล (ทั่วไป), สะเก้ง สะแก้ง (เชียงใหม่), ขี้เหล็กหวาน(ขอนแก่น), พรึงบาดาล ตรึงบาดาล (ระยอง), ขี้เหล็กบ้าน (ภาคเหนือ), สะเก๋ง(ภาคตะวันตกเฉียง-เหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna sulfurea (DC. ex Collad.) H. S. Irwin & Barneby
ชื่อพ้อง : Cassia fastigiata Vahl, Cassia galuca Lam., Cassia suffruticosa Roth, Cassia surattensis Burm.f., Psilorhegma suffruticosa (Roth) Britton & Rose, Senna speciosa Roxb.
วงศ์ : Fabaceae
ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) : ละติจูด 13.820261 °N ลองจิจูด 100.041097 °E
ละติจูด 13.818779 °N ลองจิจูด 100.040462 °E
ละติจูด 13.820683 °N ลองจิจูด 100.040461 °E
ลักษณะวิสัย (habit): ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้น ลำต้นสูงประมาณ 4 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ
ใบ ใบเป็นใบประกอบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ เรียงตัวแบบสลับ ใบย่อยมี 10-14 ใบ ใบย่อยเรียงตัวแบบตรงข้าม ใบย่อยลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-2 ซม.
ยาว 2.5-4 ซม. ปลายใบมนหรือเว้าตื้น โคนกลมหรือมน ขอบใบเรียบ หลังใบเรียบสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนสั้นนุ่มประปราย ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบที่เจริญเต็มที่มีสีเขียวเข้ม
ดอก ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ดอกย่อยมีจำนวน 10-15 ดอก ใบประดับสีเขียวรูปไข่ ยาว 4-8 มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง จำนวน 5 กลีบ ยาว 3-9 มม. กว้าง 4-5 มม. กลีบดอกมีสีเหลืองรูปไข่จำนวน 5 กลีบ ยาว 2-2.5 ซม. กว้าง 1-1.5 ซม. ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 10 อัน ก้านชูอับเรณูสีเหลืองสั้น 1-3 มม. อับเรณูสีน้ำตาลอมเหลืองรูปรียาวปลายแหลม ยาว 6 มม. เกสรตัวเมียสีเขียวอ่อนเรียวยาวจำนวน 1 อัน ยาว 1.3 ซม.
ผล ผลเป็นฝักแบนเรียบ กว้าง 1.5 ซม. ยาว 7-15 ซม. ปลายมีติ่งแหลม ฝักอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง ฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดมีสีน้ำตาลลักษณะกลมรี ปลายแหลมมน กว้าง 3-4 มม.
ยาว 6-8 มม.
ฤดูการออกดอกและติดผล
ออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี
เขตการกระจายพันธุ์
ทรงบาดาลมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจาไมก้า ในประเทศไทยนิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
การใช้ประโยชน์จากพืช หรือคุณค่าทางเภสัชพฤกษศาสตร์
ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป รากสามารถนำมาต้มแล้วนำน้ำที่ได้มาดื่มแก้อาการสะอึกหรือถอนพิษผิดสำแดง