ราชพฤกษ์

ราชพฤกษ์

ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) :  ราชพฤกษ์  ratcha phruek (Central); กุเพยะ ku-phe-ya (Karen-Kanchanaburi);     คูน khun (Central, Northern)

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Cassia fistula L.

ชื่อพ้อง :  Cassia fistula “sensu Blanco, non Merr.”

ชื่อสามัญ :  Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pine tree, Purging Cassia

วงศ์ :  Fabaceae

ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) :

ละติจูด 13.818892 ˚N ลองจิจูด 100.041435 ˚E

ละติจูด 13.819377 ˚N ลองจิจูด 100.040393 ˚E

ละติจูด 13.820255 °N  ลองจิจูด100.040019 °E

ละติจูด 13.818950 °N  ลองจิจูด 100.041616 °E

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะวิสัย (habit) :  ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ

ลำต้น :  ลำต้นมีความสูง 10-20  เมตร เปลือกต้นมีลักษณะเรียบ สีเทาแกมเขียว

ใบ :  ใบประกอบแบบขนนก ประกอบด้วยก้านใบหลัก ยาว 20-30 เซนติเมตร ใบย่อยออกเป็นคู่ การเรียงตัวของใบย่อยเป็นแบบตรงกันข้ามอาจเยื้องกันเล็กน้อย ใบย่อยแต่ละใบมีรูปทรงรีแกมรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลมสอบ มีสีเขียวอ่อน และค่อยๆเข้มขึ้นจนเขียวสด ขนาดของใบย่อยกว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านล่างมีขนปกคลุม เส้นใบเป็นแบบร่างแห

ดอก :  ดอกช่อแบบช่อกระจะ ช่อดอกยาวสีเหลือง ยาว 20-40 ซนติเมตร แต่ละก้านดอกประกอบด้วยดอกจำนวนมาก

ลักษณะกลีบเลี้ยง : มี 5 กลีบ กลีบสีเขียวมีขนาดเล็ก ค่อนข้างกลมมน

ลักษณะกลีบดอก :  มี 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง ลักษณะกลีบดอกเป็นรูปรีหรือกลม

เกสรตัวผู้ :  มี 10 อัน โดยมีอับเรณูยาว 5 มิลลิเมตรและก้านชูอับเรณูสั้นมากๆ 7-8 อัน ที่เหลืออีก  2-3 อันมีก้านชูอับเรณูยาว และอับเรณูยาว 1.5-2 เซนติเมตร อับเรณูมีสีน้ำตาล

เกสรตัวเมีย :  มีเพียง 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนปกคลุม

ผล :  มีลักษณะเป็นฝักยาว ทรงกลม ผิวฝักเรียบ ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาล น้ำตาลดำหรือดำ

เมล็ด :  เมล็ดแบนหรือกลมรี สีน้ำตาล มีผนังกั้นจำนวนมาก

ฤดูการออกดอกและติดผล : ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม และติดผล  ติดผลช่วงเดือนเมษายน – เดือนกันยายน

เขตการกระจายพันธุ์ : พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังทั่วประเทศ

การใช้ประโยชน์ :  นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้ถนน เป็นไม้ประจำชาติของไทย

เนื้อในฝัก มีรสหวานเอียนช่วยแก้อาการต่างๆ เช่น แก้ท้องผูก ขับเสมหะ ระบายพิษไข้ ช่วยระบายท้องเด็ก เป็นยาระบายที่ไม่ปวดมวนใช้ในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ แก้ท้องผูกเรื้อรัง แก้ไข้มาลาเรีย แก้ตานขโมย ระบายพิษโลหิต แก้ร้อนในกระหายน้ำ บรรเทาอาการแน่นหน้าอกฟกช้ำ   ชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ ถ่ายโรคกระษัย ถ่ายเส้นเอ็น และใช้พอกแก้ปวดข้อ

ใบ มีรสเมาใช้ระบายท้อง ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ แก้ฝีและเม็ดผื่นคันตามร่างกาย ฆ่าพยาธิผิวหนัง      ตำพอกแก้ปวดข้อ แก้ลมตามข้อและแก้อัมพาต

ใบอ่อน แก้ไข้รูมาติก

ดอก มีรสเปรี้ยวหรือขม ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ระบายท้อง แก้พรรดึก แก้แผลเรื้อรัง แผลพุพอง แก้ฝี-เปื่อยพัง  แก้บวม เป็นยาหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตกเลือด

เปลือกต้น มีรสฝาดเมาแก้ท้องร่วง ฝนผสมกับหญ้าฝรั่น น้ำตาลและน้ำดอกไม้เทศ กินแล้วทำให้เกิดลมเบ่งในการคลอดบุตร สมานแผล แก้ไข้ แก้ฝีคุดทะราด แก้โรคในทรวงอก แก้ฟกบวมในท้อง  แก้ปวดมวน แก้เม็ดผื่นคันในร่างกาย แก้ตกเลือด แก้บวม แก้พยาธิ และแก้ฝีเปื่อยพัง

แก่น มีรสเมาใช้กินกับหมาก  ช่วยขับพยาธิไส้เดือน แก้กลากเกลื้อนและช่วยระบายพิษไข้

กระพี้ มีรสเมาแก้รำมะนาดกินฟันและแก้ปวดฟัน

ราก มีรสเมาแก้กลากเกลื้อน ฆ่าเชื้อคุดทะราด ระบายพิษไข้ แก้เซื่องซึม แก้หายใจขัด แก้ไข้ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ถุงน้ำดี เป็นยาระบายท้อง รักษาขี้กลาก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้พยาธิและแก้ตกเลือด

เปลือกราก มีรสฝาดต้มดื่มระบายพิษไข้ แก้ไข้มาลาเรีย

เปลือกเมล็ดและเปลือกฝัก ถอนพิษเบื่อเมาทำให้อาเจียน

เมล็ด ใช้ถ่ายพยาธิแก้ตานซางตัวร้อน มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว

เปลือกและใบ บดผสมใช้ทาฝีและเม็ดตามร่างกาย