ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) : แคนา (ภาคกลาง) , แคขาว แคเก็ตวา แคเก็ตถวา แคเค็ตถวา (เชียงใหม่), แคภูฮ่อ (ลำปาง), แคป่า (เลย,ลำปาง), แคทราย (นครราชสีมา), แคยาว แคอาว (ปราจีนบุรี), แคยอดดำ (สุราษฎร์-ธานี), แคตุ้ย แคแน แคฝา แคฝอย แคหยุยฮ่อ แคแหนแห้ (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dolichandrone serrulata (Wall. ex DC.) Seem.
ชื่อพ้อง : Bignonia serrulata Wall. ex DC., Spathodea serrulata (Wall. ex DC.) DC., Stereospermum serrulatum DC.
วงศ์ : Bignoniaceae
ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) :
ละติจูด 13.82028055556 °N
ลองจิจูด 100.04010833333 °E
ลักษณะวิสัย (habit): เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีการผลัดใบ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้น ลำต้นมีความสูงโดยประมาณ 15 เมตร เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาลอ่อนอมเทา
ใบ ใบเป็นใบประกอบขนนกปลายคี่ เรียงตัวแบบตรงข้าม ใบย่อยมีจำนวน 7-11 ใบ เรียงตัวแบบตรงข้าม ใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบหยักซี่ฟันห่างๆ ใบอ่อนสีเขียวอ่อน ใบที่เจริญเต็มที่มีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ
ดอก ดอกเป็นดอกช่อแบบช่อกระจะ กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนมีลักษณะเป็นกาบปลายเรียวแหลม 1 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นหลอด เมื่อดอกบานจะมีรอยแตกด้านล่าง กลีบเลี้ยงขนาดยาว 4.5 ซม. ดอกรูปแตรหรือลำโพง กลีบดอกเชื่อมติดกัน หลอดกลีบดอกสีเขียวอ่อนยาว 13-14 ซม. ส่วนบนบานออกคล้ายลำโพงสีขาวแกมชมพูแยกออกเป็น 5 แฉกรูปไข่ยาว 3-4 ซม. ขอบกลีบดอกหยักเป็นคลื่น ดอกตูมมีสีเขียวอ่อน ดอกบานมีสีขาว เกสรตัวผู้มีจำนวน 5 อัน แบ่งเป็นสั้น 2 อันขนาดยาว 3 ซม. ยาว 2 อันขนาดยาว 5 ซม. และเป็นหมัน 1 อัน ขนาดยาว 1 ซม. อับเรณูสีเหลืองยาว 1 ซม. เกสรตัวเมียมี 1 อัน ก้านเกสรยาว 12 ซม.
ผล ผลเป็นผลเดี่ยวมีลักษณะเป็นฝักรูปขอบขนาน โค้งหรือบิดเป็นเกลียว ยาว 40-85 ซม. ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาล เมล็ดรูปสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลอมดำ ยาว 2.2-2.8 ซม. มีปีกบางใสหุ้มรอบข้างเมล็ด
ฤดูการออกดอกและติดผล: ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมิถุนายน
ติดผลช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนสิงหาคม
การใช้ประโยชน์จากพืช หรือคุณค่าทางเภสัชพฤกษศาสตร์
: แคนาใช้เป็นยาและประกอบอาหารได้ สรรพคุณทางตำรายาไทย ดังนี้
ราก มีรสหวานเย็นแก้เสมหะและลม บำรุงโลหิต
เปลือกต้น มีรสหวานเย็นแก้ท้องอืดท้องเฟ้อใช้กับสตรีหลังคลอด
ใบ มีรสเย็นใช้ตำพอกแผลหรือต้มน้ำบ้วนปาก
ดอก มีรสหวานเย็นใช้ขับเสมหะ โลหิตและขับผายลม
เมล็ด มีรสหวานเย็นแก้อาการปวดประสาท แก้โรคชัก
ลักษณะหรือข้อมูลอื่นๆ ตามที่สามารถบันทึกได้ เช่น เขตการกระจายพันธุ์ ฯลฯ
: แคนาพบมากในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ในไทยพบได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้จะพบได้น้อยมาก