จิกนา

ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) : จิกน้ำ, จิก, จิกนา, จิกอินเดีย, ตอง,จิกมุจลินท์ (ภาคกลาง), จิ๊ก (กรุงเทพ), กระโดนสร้อย (พิษณุโลก), ลำไพ่ (อุตรดิตถ์), ตอง ปุยสาย (ภาคเหนือ), กระโดนทุ่ง กระโดนน้ำ (หนองคาย-ภาคอีสาน)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barringtonia acutangula (L.) Gaertn.

ชื่อพ้อง : Eugenia acutangula L. , Barringtonia balansae R.Knuth, Barringtonia edaphocarpa Gagnep., Barringtonia merguiensis R.Knuth, Barringtonia pedicellata Ridl., Butonica acutangula (L.) Lam., Caryophyllus acutangulus (L.) Stokes, Michelia acutangula (L.) Kuntze

วงศ์ : Lecythidaceae

ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) :  ละติจูด 13.82046388889 °N

ลองจิจูด 100.03999166667 °E

ลักษณะวิสัย (habit): เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงกลาง ไม่ผลัดใบ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ลำต้น มีลำต้นสูงโดยประมาณ 6 เมตร เปลือกของลำต้นมีสีเทาหรือน้ำตาลอ่อนแตกเป็นร่องตื้นๆ

ใบ  ใบเป็นใบเดี่ยว  ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่ง ใบเป็นรูปไข่กลับหรือแกมรูปขอบขนาน โคนใบ รูปลิ่ม ปลายใบมนทูหรือเว้าเล็กน้อย ขอบใบหยักฟันเลื่อย เส้นกลางใบมีขนาดใหญ่และหนา      ใบอ่อนสีแดงมีขนสีขาว ใบที่เจริญเต็มที่มีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ

ดอก  ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะห้อยลง กลีบเลี้ยงสีเขียวรูปรีกว้าง ยาว 3-5 มม. จำนวน     4 กลีบโคนเชื่อมติดกัน แยกเป็น 4 แฉก  กลีบดอกสีชมพูหรือแดง รูปกลมหรือรี ยาว 0.5-1 ซม. กลีบดอกไม่เชื่อม เกสรตัวผู้สีชมพูหรือแดง จำนวน 48 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 0.7-2.1 ซม. มีอับเรณูสีเหลืองกลมขนาดเล็กติดอยู่ที่ปลายก้าน เกสรตัวเมียเรียวยาวสีชมพูหรือแดง จำนวน 1 อัน ก้านเกสรตัวเมียยาว 1-2 ซม.

ผล  ผลเป็นผลเดี่ยว รูปรีแคบหรือรูปไข่เกือบกลม มีสันหรือครีบ 4-8 สัน ผลยาว 2-6 ซม. กว้าง 1-3 ซม.  ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีสีน้ำตาล ผลมีเนื้อแบบ drupe  เมล็ดรูปไข่ยาว 1-4 ซม.

ฤดูการออกดอกและติดผล

: ออกดอกและติดผลช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคม

การใช้ประโยชน์จากพืช หรือคุณค่าทางเภสัชพฤกษศาสตร์ 

: น้ำจากใบแก้ท้องเสีย เปลือกเป็นยาลดไข้และรักษาไข้มาลาเรีย ผลแก้ไอ แก้หวัด              เมล็ดแก้จุกเสียด น้ำคั้นจากเมล็ดเป็นยาหยอดตา รากเป็นยาระบายอ่อนๆ และทำให้อาเจียน

ผลและเมล็ดมีสารประกอบ triterpenoid sapogenins และ saponins หลายชนิด

ลักษณะหรือข้อมูลอื่นๆ ตามที่สามารถบันทึกได้ เช่น เขตการกระจายพันธุ์ ฯลฯ

: เขตการกระจายพันธุ์ ได้แก่ อินเดีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน บังกลาเทศ พม่า มาเลเซีย นิวกินี ออสเตรเลียตอนบน และหมู่เกาะแปซิฟิก ในประเทศไทยพบทุกภาค

ภาพโดย ศ.ดร. ทวีศักดิ์ บุญเกิด