สาละลังกา

สาละลังกา

ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) : ลูกปืนใหญ่ luk puenyai (Chon Buri); สาละลังกา sala langka (Bangkok)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Couroupita guianensis Aubl.

ชื่อพ้อง : Couroupita guianensis var. surinamensis (Mart. ex Berg) Eyma

ชื่อสามัญ : Cannonball tree

วงศ์ : Lecythidaceae

ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) : ละติจูด 13.819225 ˚N  ลองจิจูด 100.041495 ˚E

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะวิสัย (habit) : ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ

ลำต้น : ลำต้นสูง 10-20 เมตร ลักษณะของลำต้นแตกเป็นร่องและเปลือกเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลแกมเทา ไม่พบน้ำยาง

ใบ : ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ โดยจะอยู่รวมกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ใบรูปขอบขนาน ถึงรูปใบหอก ขอบใบเรียบ ฐานหรือโคนใบมน ปลายใบแหลม เส้นใบเป็นร่างแห ใบอ่อนจะมีสีเขียวอ่อนและใบแก่จะมีสีเขียวเข้า ท้องใบจะมีสีอ่อนกว่าหลังใบ ใบหนา ไม่พบขนปกคลุมใบ

ดอก : ดอกช่อแบบกระจะขนาดใหญ่ ช่อดอกยาว 25-120 เซนติเมตร ปลายช่อดอกจะโน้มลง

ลักษณะกลีบเลี้ยง : กลีบเลี้ยงหนา มี 6 กลีบไม่เชื่อมติดกัน สีกลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลืองหรือเหลืองแกมน้ำตาลอ่อน ขนาดกว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 5 มิลลิเมตร มีขนสั้นๆสีขาวปกคลุมบริเวณขอบของกลีบเลี้ยง

ลักษณะกลีบดอก : กลีบดอกมีขนาดใหญ่ หนา มี 6 กลีบไม่เชื่อมติดกัน สีชมพูอมเหลืองหรือแดง เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกมีขนาด กว้าง 4-10 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร มีขนปกคลุมสั้นๆสีเหลือง

เกสรตัวผู้ : มีจำนวนมากมีทั้งขนาดเล็กสีขาวหรือเหลือง (ส่วนล่าง) ถึงขนาดใหญ่สีชมพูปลายสุดมีสีเหลือง(ส่วนบน) ก้านชูอับเรณู ยาว 0.3 -1.5 เซนติเมตร อับเรณูมีขนาด 0.005-0.01 มิลลิเมตร มีสีขาวหรือเหลือง

เกสรตัวเมีย : พบรังไข่ใต้วงกลีบ มี 6 ช่อง สีเขียวอมเหลือง

ผล : ผลเดี่ยว ขนาดใหญ่สีน้ำตาล ผลกลม เปลือกแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 12-25 เซนติเมตร ผลแห้งแล้วไม่แตก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมื่อผลสุกจะมีกลิ่นเหม็น

ฤดูการออกดอกและติดผล : ช่วงเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน

เขตการกระจายพันธุ์ : มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกในแถบเขตร้อน ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดและตอน และนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในวัดและสถานที่ต่างๆ ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นพรรณไม้ในพุทธประวัติ

 

ภาพผล 1 โดย ศ.ดร. ทวีศักดิ์ บุญเกิด