หว้า

หว้า

ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) :  หว้า wa (Central); ห้าขี้แพะ ha khi phae (Chiang Rai)

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Syzygium cumini (L.) Skeels

ชื่อพ้อง :  Syzygium cumini var. caryophyllifolia (Lam.) R.R. Stewart

ชื่อสามัญ :  Black plum, Jambolan.

วงศ์ :  Myrtaceae

ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) :  ละติจูด 13.820192˚N ลองจิจูด 100.040609 ˚E

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะวิสัย (habit) :  ไม้ต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขาออกมาทางด้านข้าง ทรงพุ่มหนาทึบ ไม่ผลัดใบ

ลำต้น : ลำต้นสูงประมาณ 10 เมตร เปลือกต้นมีรอยแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ สีน้ำตาลปนเทา

ใบ :  ใบเดี่ยว เรียงแบบตรงข้าม ลักษณะแผ่นใบเป็นรูปรี กว้าง 6-8.5 เซนติเมตร ยาว 10-13 เซนติเมตร ฐานใบมน ปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบเรียบ เนื้อใบเป็นมันคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง มีจุดน้ำมันกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบมี 17-25 คู่ ก้านใบยาว 12 เซนติเมตร

ดอก :  ดอกช่อแบบช่อแยกแขนง ออกระหว่างซอกใบ

ลักษณะกลีบเลี้ยง : กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกมี 4 แฉก  รูปสามเหลี่ยมหรือมน

ลักษณะกลีบดอก :  มี 4 กลีบ สีขาวอมเหลือง กลีบดอกไม่เชื่อมติดกัน แต่ละกลีบมีต่อม 5-19 ต่อม

เกสรตัวผู้ :  มีจำนวนมากติดอยู่รอบฐานรองดอก อับเรณูรูปขอบขนานหรือรี

เกสรตัวเมีย :  มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรสีขาวอยู่กลางกลุ่มเกสรตัวผู้

ผล :  ผลสดมีเนื้อ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ผลแก่สีม่วงแดงหรือดำ

เมล็ด :  มี 1 เมล็ด

ฤดูการออกดอกและติดผล : ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน

เขตการกระจายพันธุ์ : เอเชียเขตร้อน อินเดีย พม่า มาเลเซีย และไทย ประเทศไทยพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ดินอุดมสมบูรณ์หรือพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ

การใช้ประโยชน์ :  ใบ ดอก ผล สามารถรับประทานได้และนำมาทำเป็นยาสมุนไพรใช้รักษาโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน วัณโรค โรคหัวใจ เป็นต้น

ภาพดอกจากเว็บไซต์สารานุกรมพืช สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช http://www.dnp.go.th/botany/  โดย มานพ ผู้พัฒน์