หางนกยูงฝรั่ง

หางนกยูงฝรั่ง

ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) :  หางนกยูงฝรั่ง hang nok yung farang, อินทรี in si (Central), นกยูงฝรั่ง nok yung farang (Central); ส้มพอหลวง som pho luang (Northern); หงอนยูง ngon yung (Peninsular)

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf.

ชื่อพ้อง : Delonix regia var. flavida Stehle

ชื่อสามัญ :  Flamboyant tree, Flame of the forest, Peacock flower.

วงศ์ :  Fabaceae

ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) :

ละติจูด 13.819477 ˚N ลองจิจูด 100.040343˚E

ละติจูด 13.820214 ˚N ลองจิจูด 100.040075˚E

ละติจูด 13.821219 ˚N ลองจิจูด 100.039550˚E

ละติจูด 13.819646 ˚N ลองจิจูด 100.040944˚E

ละติจูด 13.820239 °N  ลองจิจูด 100.04005 °E

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะวิสัย (habit) :  ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ มีเรือนยอดแผ่กว้างเป็นทรงคล้ายร่ม

ลำต้น : ลำต้นสูง 12-18 เมตร เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบ อาจพบรอยแผล สีของเปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน

ใบ :  ใบประกอบเป็นแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียนสลับ โดยใบย่อยจะเรียงตรงข้ามกัน ใบย่อยแต่ละใบมีขนาดเล็ก แผ่นใบของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยว และปลายใบกลมมน แผ่นใบย่อยบาง ไม่มีขนปกคลุม ใบอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน ใบแก่จะมีสีเขียวเข้ม

ดอก :  ดอกช่อแบบกระจะ ออกตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยจะเรียงเวียนสลับ

ลักษณะกลีบเลี้ยง :  มี 5 กลีบ ไม่เชื่อมติดกัน แต่ละกลีบเรียงสลับกับกลีบดอก กลีบเลี้ยงด้านนอกมีสีเขียว ด้านในมีสีส้มแดง

ลักษณะกลีบดอก : มี 5 กลีบ กลีบดอกประกอบด้วย 2 สีคือ สีเหลือง หรือสีส้มแดง โคนกลีบดอกเรียวมองดูคล้ายก้านกลีบ ปลายกลีบดอกแผ่กว้าง ขอบกลีบเป็นคลื่น จะมีกลีบดอก 1 กลีบใน 5 กลีบที่มีลวดลายและสีสันเด่นชัดกว่ากลีบอื่นมองดูคล้ายลวดลายและสีของหางนกยูง

เกสรตัวผู้ :  มี 9 อัน ก้านชูอับเรณูมีสีแดงหรือส้มแดง ไม่เชื่อมติดกัน ก้านชูอับเรณูติดที่ด้านหลังของอับเรณู

เกสรตัวเมีย :  มีเพียง 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ก้านยอดเกสรตัวเมียยาว มีสีแดงเหมือนก้านชูอับเรณู

ผล : ลักษณะของผลเป็นฝักแบนแข็ง ยาว 30-60 เซนติเมตร และกว้าง 3-5 เซนติเมตร ลักษณะของฝักเป็นข้อ ๆ แต่ละข้อจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมื่อฝักแก่จะแตก

เมล็ด :  มีเมล็ด 20-40 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีเขียว ส่วนเมล็ดแก่เต็มที่จะเป็นสีเทาอมขาว ลักษณะค่อนข้างกลม

ฤดูการออกดอกและติดผล : ออกดอกช่วงเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม

เขตการกระจายพันธุ์ : พบทุกภาคของประเทศไทย โดยจะเจริญเติบโตดีในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน ปีใดที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งมากจะออกดอกมาก

การใช้ประโยชน์ : นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ นอกจากนี้ราก เมล็ด สามารถนำมาประกอบอาหารหรือใช้ทำเป็นยาได้ เช่น รากทำเป็นยารักษาอาการบวมและยาขับโลหิตในสตรี ส่วนเมล็ดสามารถนำมาทำเป็นขนมหวานได้