ชื่อพรรณไม้ (ท้องถิ่น) : แคหางค่าง khae hang khang (General); แคบิด khae bit, แคขน khae khon (Northern); แคลาว khae lao (Loei); แคหัวหมู khae hua mu (Nakhon Ratchasima); แคพอง khae phong (Surat Thani)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fernandoa adenophylla (Wall. ex G.Don) Steenis
ชื่อพ้อง : Bignonia adenophylla Wall. ex G.Don
Haplophragma adenophyllum (Wall. ex G.Don) Dop
Heterophragma adenophyllum (Wall. ex G.Don) Seem. ex Benth. & Hook.f.
Spathodea adenophylla A.DC.
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : Bignoniaceae
ตำแหน่งที่พบ (ระบุพิกัด GPS) : 13°49’12.5″N 100°02’24.7″E
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะวิสัย (habit) : จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบในช่วงสั้น
ลำต้น : มีลำต้นสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นมักคดงอ มีเรือนยอดไม่เป็นระเบียบ เปลือกต้นเป็นสีเทาค่อนข้างเรียบ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีขาว ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล
ใบ : ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อยประมาณ 1-4 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบย่อยกว้าง 3-20 เซนติเมตร ยาว 3-30 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ ส่วนโคนใบมนหรือยักเว้าเล็กน้อยและมักเบี้ยว แผ่นใบหนา หลังใบเกลี้ยง หรืออาจมีขนเล็กน้อย ส่วนท้องใบมีขนสาก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป เส้นใบ มี 6-10 คู่ เส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได มองเห็นได้ชัดทางท้องใบ
ดอก : ช่อดอกแบบแตกแขนง เกิดบริเวณปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร ดอกมีขนาดใหญ่สีเหลืองนวล โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 2.5-4.5 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก มีขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมหนาแน่น กลีบดอกสีเหลืองนวล เชื่อมติดกันเป็นหลอดและโค้งเป็นรูปแตรงอน ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลขึ้นอยู่หนาแน่น ด้านในเกลี้ยง ส่วนช่วงบนแผ่ขยายใหญ่กว้างจนถึงแฉกกลีบดอก กว้าง 4-5 เซนติเมตรและยาว 3-5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรตัวผู้อยู่ 2 คู่ แบ่งเป็นยาว 1 คู่และสั้น 1 คู่ และมีรังไข่เป็นรูปทรงกระบอกและบิดเบี้ยว มีขนคลุมอยู่หนาแน่น
ผล : รูปทรงกระบอก โค้งงอและบิดเป็นเกลียว กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 35-70 เซนติเมตร ฝักจะมีสันเป็นเส้นยาวตามฝัก 5 สัน และมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุมทั่วไป ฝักเมื่อแก่จะแตกตามรอยประสาน
เมล็ด : มีลักษณะแบน กว้าง 0.7-1.2 เซนติเมตรและยาว 2-3 เซนติเมตร และมีเยื่อบาง ๆ ตามขอบคล้ายกับปีก
ฤดูการออกดอกและติดผล : ออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนกันยายน
เขตการกระจายพันธุ์ : อินเดีย บังคลาเทศ พม่า อันดามัน คาบสมุทรอินโดจีน และแหลมมาลายู ในไทยพบได้มากตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าหญ้า ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-800 เมตร
การใช้ประโยชน์ : ดอกและฝักอ่อนใช้รับประทานได้ แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน โดยจะมีรสขมเล็กน้อย เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างและทำวัสดุต่างๆ เมล็ดบำรุงโลหิต ขับเสมหะ เปลือกต้นใช้ต้มน้ำแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ใบใช้ตำพอกรักษาแผลต่างๆ และรักษาโรคผิวหนัง